Translate

25 กันยายน 2555

ตามไปดูม้าไทย กับ "วันนี้...ที่ยังเหลืออยู่" ณ ชมรมอนุรักษ์ม้าพื้นบ้านสิรินธร


นอกจากการเดินทางไปเยือนสามพันโบก ที่จ.อุบลราชธานี แล้ว อีกหนึ่งโปรแกรมที่ทำให้ฉันตัดสินใจมากับทริปนี้ ก็คือ การได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์ม้าพื้นบ้านสิรินธร ด้วย




ชายวัยกลางคนผอมสูง ผิวคล้ำ สวมเสื้อแจ๊กเก็ตตัวบางกับกางเกงขาสั้นสีดำ ออกมาต้อนรับคณะของเราที่หน้าชมรมฯ ด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร เขาคืออาจารย์ชูชาติ วารปรีดี ประธานชมรมอนุรักษ์ม้าพื้นบ้านสิรินธร และเป็นเจ้าของพื้นที่ชมรมฯแห่งนี้ ที่ ๆ เราจะมานอนพักแรมในค่ำคืนนี้ 



“จะกางเต้นท์นอน หรือจะนอนบนเรือนก็ได้ ตามสะดวกเลยครับ” อาจารย์กล่าวกับเราพร้อมรอยยิ้มที่ดูเหมือนจะติดอยู่บนใบหน้าตลอดเวลา อาจารย์บอกว่า ที่นี่ไม่ได้ทำในลักษณะของโฮมสเตย์อย่างที่กำลังนิยมกันอยู่ตอนนี้ เพราะออกจะผิดวัตถุประสงค์หลักของชมรมฯ ‘อาจารย์ตั้งใจจะอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าจะทำเป็นธุรกิจ’ และที่นี่ก็มีอาจารย์ดูแลอยู่เพียงคนเดียว คงไม่สามารถเปิดให้ใหญ่โตอะไรนัก อาจารย์บอกว่า
“แค่พอมีเลี้ยงม้าให้อิ่ม... ก็ดีใจแล้ว”


กลุ่มของเราเลือกที่จะนอนเต้นท์ส่วนหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งเลือกนอนบนเรือนไม้ ต่างก็จัดแจงหิ้วข้าวของลงจากรถเพื่อจัดที่หลับที่นอนของตัวเอง หลังจากกางเต้นท์แล้ว เราก็นั่งรถเข้าไปในตัวตลาดที่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร แวะซื้อกับข้าวพื้นเมืองมาทานกัน อาจารย์ยกห้องครัวให้คณะของเราประกอบอาหาร ส่วนอาจารย์ก็ไปตัดลูกขนุนผลโตมาให้เราได้ทานกันมื้อเย็นด้วย กลิ่นขนุนหอมโชยมาไม่แพ้กลิ่นกับข้าวมากมายที่เราซื้อมาจากตลาด กุ้งแม่น้ำย่างไฟกรุ่นถูกตักใส่จาน แล้วเอามาวางกันกลางลาน ปูเสื่อนั่งล้อมวง ‘ฉันห่างหายชีวิตแบบนี้ไปนานมากเท่าไหร่แล้วหนอ’ พวกเรานั่งกินข้าวไป พร้อมกับฟังเรื่องเล่าจากอาจารย์ ที่มีมากมายให้ฟังได้ไม่เบื่อ 

อาหารพร่องไปหลายอย่างแล้ว แต่ทุกคนก็ยังนั่งล้อมวงฟังอาจารย์เล่าเรื่องของชมรมฯ ให้เราฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ หลากหลายคำถามพร่างพรูถามอาจารย์อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหมด ทำให้เราได้รู้ว่าม้าไทยตอนนี้ใกล้สูญพันธุ์แล้ว เนื่องด้วยเพราะม้าไทยตัวเล็กจึงไม่เป็นที่นิยม สู้ม้าฝรั่งที่ตัวใหญ่กว่าไม่ได้ จึงมีค่าแค่ถูกขายไปเป็นอาหารตั้งโต๊ะเท่านั้น อาจารย์จึงอยากจะอนุรักษ์พันธุ์ม้าไทยไว้ เพราะกลัวว่าจะสูญพันธ์ไปจากหมู่บ้าน จึงเริ่มทยอยนำเงินของตนเองที่มีอยู่ขอซื้อม้าจากคนในพื้นที่ ใหม่ ๆ ก็ลำบากพอดู มีตังค์บ้าง ไม่มีตังค์บ้าง ม้าที่เลี้ยงก็ผอมเพราะไม่ค่อยมีตังค์ซื้ออาหารเสริมให้ม้าได้กิน 



พอรวมตัวกันกับคนท้องถิ่นตั้งเป็นชมรมขึ้นมา สมาชิกชมรมก็จะรับม้าไปเลี้ยง เอาไปช่วยกันฝึก จนในปัจจุบันนี้ชมรมมีม้าอยู่ 32 ตัว เป็นม้าพื้นเมืองทั้งหมด แต่ด้วยม้าเริ่มเยอะ ทุนรอนก็ไม่ค่อยมี ก็เริ่มหารายได้จากการขายเสื้อเป็นของที่ระลึกบ้าง ซึ่งก็ช่วยทำให้ม้าที่นี่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ตอนนี้สามารถเอาม้าที่เลี้ยงไว้มาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากขึ้น



...คุณอาจจะสงสัยว่า ม้าแกลบตัวเล็กพวกนี้ จะทำประโยชน์อะไรเพื่อสังคมได้ ?
อาจารย์บอกว่า การขี่ม้าจะช่วยพัฒนาให้เด็กมีสมาธิได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กพิเศษหรือเด็กออทิสติสก์ หากได้มาลองขี่ม้าก็จะชอบมาก ทำให้สมาธิของเด็กนิ่งขึ้นเยอะ จึงเกิดแนวคิดที่จะให้เด็กหรือผู้สนใจได้ลองหัดขี่ หัดบังคับม้า แล้วก็พาขี่ม้าเที่ยวชมธรรมชาติ นอกจากช่วยเด็กแล้ว ม้าก็มีค่ายา ค่าอาหาร คนในท้องถิ่นก็จะมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวได้อีกด้วย จึงทำโครงการนี้ขึ้นมา แต่ติดที่ว่าบุคลากรในชมรมค่อนข้างน้อย บางทีถ้าจะมาก็ต้องติดต่อกันล่วงหน้า จะได้แจ้งสมาชิกชมรมมาช่วย ๆ กันดูแล หรือหากพวกเราจะไปเที่ยวไปพักแรมก็ขอให้โทรบอกกันล่วงหน้า 


นอกจากอาจารย์จะดูแลม้าแล้ว บางทีก็จะออกไปสอนเด็กในชุมชนให้รู้จักการใช้ชีวิตอยู่กับป่า อาจารย์บอกว่า เด็กที่นี่สู้เด็กในเมืองไม่ได้ ถึงแม้ไปเรียนหนังสือก็ยังเขียนหนังสือไม่เป็น เพราะวิถีชีวิตที่นี่กับเมืองกรุงต่างกัน การที่จะเรียนทันกันนั้น คงเป็นไปไม่ได้ “เด็กที่นี่พอตีสามก็ตื่นไปดักสัตว์ จับแมลงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว” เรื่องเรียนน่ะคงสู้กันไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องการดำรงชีพในป่านั้น เด็กที่นี่เอาตัวรอดในป่าได้ อาจารย์จึงอาสาพาเด็ก ๆ เข้าป่า ไปให้เรียนรู้ธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันของคนและป่า ให้เด็กมีจิตใจที่รักษ์ป่า ไปฝึก ไปสอน “ให้ธรรมชาติสอนชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม บรรดาผู้ปกครองในเมืองก็จะพาลูก ๆ มาพักกันที่นี่ ให้เด็กได้ใกล้ชิดกับป่า เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติ เด็กบางคนก็มาเรียนขี่ม้าโดยเฉพาะก็มี เด็กบางคนก็ผูกพันกับม้ามาก จะมาเยี่ยมทุก ๆ ปิดเทอมก็มี


ในรุ่งเช้าเพียงแค่ตี 5 แสงสีส้มยามเช้าแตะแต้มบนขอบฟ้าแล้ว ที่นี่จะสว่างเร็วมาก จึงต้องรีบตื่นเพื่อจะมาเก็บบรรยากาศยามเช้าของวันใหม่ อาจารย์เองก็ตื่นเช้าเช่นกัน และก็ยังปฏิบัติหน้าที่ตอบคำถามของฉันเหมือนเคย พลางพาไปดูคอกม้าที่เมื่อวานเรายังไม่ได้ไปเดินชมเลย


อาจารย์บอกว่าม้าต้องได้ขี่ มันถึงจะมีชีวิตและจิตใจ กระชุ่มกระชวย อาจารย์ก็บอกให้เราขี่ได้นะ ถึงม้าแกลบจะเป็นม้าตัวเล็กกว่าม้าพันธุ์อื่น ๆ แต่ก็แข็งแรงแล้วก็เลี้ยงไม่ยากนัก 
ตอนเช้าอาจารย์ก็จะให้อาหารเสริม แล้วสาย ๆ จึงค่อยปล่อยม้าไปกินหญ้า สิ่งหนึ่งที่เพิ่มความรู้ให้แก่ฉันคือ อาจารย์บอกว่าในหญ้าตามพื้นดินนั้นจะมีพยาธิ หากเราปล่อยม้าไปกินตอนเช้าที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ม้าจะติดพยาธิได้ง่าย จึงต้องปล่อยม้าไปในตอนสาย ๆ แดดดี ๆ พยาธิก็จะไม่ขึ้นมา หรืออย่างน้อยไข่พยาธิตามพื้นดินก็จะถูกความร้อนกำจัดไปได้ส่วนหนึ่ง นี่ก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลย
ม้าที่คอกก็จะมีชี่อเขียนไว้ เสมือนว่าคอกใครคอกมัน ก็เลยอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า อาจารย์จำชื่อม้าได้หมดทุกตัวมั้ย อาจารย์บอกว่า “จำได้ ...ได้ทุกตัวเลย ต่อให้เดินอยู่ข้างนอก ผมก็จำได้... เลี้ยงมากับมือ” อาจารย์สอนให้เราสังเกตม้าด้วยว่า ม้าตัวใดต้อนรับหรือไม่ต้อนรับเรา หากเราเข้าไปใกล้แล้วเขาเอาหูลู่ไปข้างหลัง แสดงว่าเขาไม่อยากให้เราเข้าไปใกล้ แล้วเวลาเข้าหาม้า ให้เข้าด้านหน้า อย่าเข้าจากด้านหลังของม้า เพราะอาจทำให้ม้าตกใจและดีดเราได้ หลังจากอาหารมื้อเช้า ฉันก็ได้ขึ้นขี่ม้าตามที่ตั้งใจไว้ อาจารย์พาเจ้าแซม ม้าแกลบสีขาวมาให้ฉันลองขี่ดู 


เจ้าแซมเป็นม้าสีขาว ดูจะเชื่องและนิ่งกว่าม้าตัวอื่น ๆ ก้าวแรกที่ได้ขึ้นไปอยู่บนอาน รู้สึกตื่นเต้นมาก กับการขึ้นขี่ม้าครั้งแรก อาจารย์จูงเจ้าแซมและพาออกเดินไปด้วยกัน อาจารย์เล่าว่า ตัวนี้ซื้อมาแพงกว่าตัวอื่น เจ้าของเดิมของแซมบอกขายในราคา 5,000 บาท แม้จะขอต่อรองราคา ก็ยังไม่ยอมขาย อาจารย์ก็ยังแวะกลับมาดูเจ้าแซมอีกที ปรากฎว่าเจ้าของได้ขายมันไปให้กับพ่อค้าเนื้อม้าแล้ว ตอนที่อาจารย์ไปถึงนั้น เจ้าแซมขึ้นไปรอชะตากรรมบนรถของพ่อค้าแล้ว อาจารย์จึงขอเจรจากับพ่อค้าเนื้อม้าคนนั้น แต่เค้าบอกอาจารย์ว่า 7,000 ถ้าไม่ได้ราคานี้ก็ไม่ขาย ด้วยความที่อาจารย์รักม้ามาก แล้วก็สงสารเจ้าแซม จึงยอมเสียเงินให้พ่อค้าไป เพื่อช่วยชีวิตเจ้าแซมมา ตั้งแต่นั้นเจ้าแซมก็เลยได้มาอยู่ที่ชมรมฯ และตอนนี้ก็เปรียบเสมือนม้าคู่กายของอาจารย์ชูชาติไปซะแล้ว

ในยามสาย ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องอำลาอาจารย์แล้ว ต่างขอบคุณซึ่งกันและกัน กับมิตรไมตรีที่หยิบยื่นให้ ก่อนกลับทุกคนก็ซื้อเสื้อที่ระลึกกันไปคนละตัว 2 ตัว อย่างน้อยก็เพื่อช่วยค่าอาหารของเจ้าแซมและเพื่อน ๆ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 

รถเราเคลื่อนตัวออกจากประตูชมรมแล้ว ฉันยังจำภาพในยามเย็นย่ำของเมื่อวานได้ ภาพที่อาจารย์ควบเจ้าแซม วิ่งไล่ต้อนม้าอื่น ๆ กลับเข้าคอก ฉันบอกกับตัวเองว่า อาจารย์เหมือนอัศวินขี่ม้าขาวในหนังที่เคยดู เพียงแต่ว่า ชีวิตจริงไม่มีเจ้าหญิง มีแต่ม้าไทยที่กำลังจะสูญพันธุ์ รอเวลาให้อัศวินมาช่วยชีวิต ... อาจารย์คงทำได้เพียงแค่นี้ สำหรับอาจารย์นั้น ทุกอย่างที่ทำเพราะความรัก และเมตตา ไม่ต้องมีใครมาร้องขอให้ทำ และไม่ได้ทำเพื่อหวังความร่ำรวยอะไร และ เพราะทำด้วยใจ ...แค่เพียงพอ และพอมีสำหรับคนและม้า ก็ดูจะพอสำหรับอาจารย์แล้ว ก็คงขอเป็นแค่อัศวินม้าแกลบของเด็ก ๆ และม้า ๆ ต่อไป ตราบเท่าที่สองมือและเรี่ยวแรงยังมี




1 ความคิดเห็น:

วิถีฯลฯ กล่าวว่า...

ดู อ. แกมีความสุขมากๆนะ😊

Your are in my mind

Your Welcome
Powered By Blogger