Translate

24 กันยายน 2555

A dream Come true in Bhutan ตอนที่ 1


ความฝันจะลอยอยู่ในอากาศ หากเราไม่คว้าไว้ ก็ยังคงจะลอยอยู่อย่างนั้น

ตอนที่ 1

ที่เห็นอยู่ลิบ ๆ ตรงนั้นคือ สนามบินสุวรรณภูมิ  ฉันเหลือบมองนาฬิกาที่หน้ารถแท็กซี่ ฉันมาถึงเร็วกว่าที่นัดหมายมาก คงเป็นเพราะความพะวงว่ากลัวจะมาไม่ทัน  ฉันหยิกที่แขนตัวเองอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันว่าฉันไม่ได้ฝันอยู่  เพราะว่าหากเป็นเพียงความฝัน ฉันจะได้รีบตื่นและรีบมาให้ทันเครื่องบินออก
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ฉันยังฝันอยู่เลยว่าฉันไปภูฏาน  แต่ขณะนี้ อีกไม่กี่วินาทีข้างหน้านี้ ความฝันของฉันก็จะเป็นจริงแล้ว  ความฝันที่เคยล่องลอยในอากาศกว่า 4 ปี ยังไม่เคยเลือนหาย  แต่ยังไม่อาจหยิบฝันลงมาได้ ติดตรงที่สตางค์ในกระเป๋ายังไม่เพียงพอ  ภูฏานเป็นประเทศที่ไม่ได้เข้าถึงยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ  แต่เป็นเพราะภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บในจำนวนมากนั้นต่างหาก ที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทาง และลืมประเทศนี้ไปจากความคิด
สายการบิน Druk Air พาผู้โดยสารเหิรฟ้าจากกรุงเทพฯ ตรงเข้าพาโร แต่วันนี้ทัศนวิสัยไม่ดีนัก ทำให้เครื่องบินดีเลย์กว่า 2 ชั่วโมง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฉันหงุดหงิด หากเพียงแต่รู้ว่าอยู่เหนือน่านฟ้าภูฎาน เบื้องล่างคือภูเขานับร้อยลูกที่ทอดตัวสลับซับซ้อน ราวกับมังกรยักษ์นอนขดตัว เมฆสีขาวจับกลุ่มก้อนลอยตัดกับสีเขียวเข้มของภูเขา เหมือนเราได้เดินทางมาอีกโลกหนึ่ง โลกในความฝันของฉัน




“ปลอดภัยค่ะ ไปคนเดียวก็เที่ยวได้ คุณตุ้ยไม่ต้องกังวลนะคะ”  คุณหลิง ยืนยันเป็นมั่นเหมาะ เพราะว่าเคยมาที่นี่ลำพังแล้ว ทำให้ฉันคลายกังวลใจไปได้บ้าง คุณหลิงช่วยดูแลการเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบการขาย การได้พูดคุยกับคุณหลิงทำให้ฉันรู้ว่า ภูฏานไม่ได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว แต่สิ่งที่จำกัดคือ จำนวนเที่ยวบินของสายการบิน Druk Air ซึ่งเป็นเพียงสายการบินเดียวที่เข้าประเทศภูฏาน หากสามารถจองตั๋วได้ คุณก็สามารถทำเรื่องเดินทางเข้าไปภูฏานได้  โดยกระบวนการนั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไรนัก เพียงแต่นักท่องเที่ยวต้องติดต่อผ่านบริษัททัวร์ที่ภูฏาน ซึ่งจะดำเนินการเรื่องวีซ่าให้  แต่สิ่งที่หลายคนจะคิดหนักหน่อย ก็คงจะเป็นภาษี (Tourist Tarrif) ที่รัฐบาลเรียกเก็บ วันละ 200 USD ต่อคน/ต่อคืน  หากไป 5 คืน ก็เป็นเงินราว ๆ 31,000 บาท   และหากไปช่วง Low Season ก็จะถูกลงมาหน่อย ประมาณ 165 USD ต่อคน/ต่อคืน  สำหรับผู้ที่จะไปคนเดียวก็สามารถไปได้เช่นกัน แต่อาจต้องเสีย surcharge เพิ่มเติม  นักท่องเที่ยวที่อยากจะ backpack เข้าประเทศภูฏานโดยไม่ซื้อแพคเกจทัวร์นั้นทำไม่ได้  เพราะนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าประเทศภูฏานต้องโอนเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนโดยผ่านทัวร์ท้องถิ่นที่ภูฏาน ทางรัฐบาลจึงจะออกวีซ่าให้ และวีซ่านั้นจะมีอายุเท่ากับจำนวนวันที่เราซื้อทัวร์ท่องเที่ยว   อีกนัยหนึ่งเหมือนเป็นการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และอีกนัยหนึ่งคิดให้เป็นบวก คือ ยิ่งนักท่องเที่ยวน้อย ความเป็นธรรมชาติของที่นี่ก็จะกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
ในยามที่เครื่องบินใกล้จะลงจอดที่สนามบินนั้น ฉันยิ่งได้สัมผัสความงามของขุนเขาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ป่าสนเขียวทึบดูชุ่มฉ่ำ ปีกเครื่องบินละเมฆขาว แล้วค่อย ๆ เอียงตัวเพื่อหลบเหลี่ยมภูเขาก่อนเอียงตัวตั้งตรงอีกครั้งเพื่อเตรียมดิ่งสู่พื้นดินในทันใด  ผู้โดยสารต่างพากันปรบมือให้กับความสามารถของนักบินในการลงจอดได้อย่างงดงาม ฉันนั่งอมยิ้มกับความรู้สึกตัวเอง รู้สึกราวกับว่า ฉันเป็นนกที่กำลังบินโฉบภูเขา และทิ้งตัวสู่เบื้องล่างอย่างไรอย่างนั้น  ประสบการณ์ครั้งแรกในการบินของฉันนี่สุดยอดจริง ๆ
ความงดงามของที่นี่ให้เห็นตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากเครื่อง อาคารผู้โดยสารเพียงหลังเดียว แต่มีเอกลักษณ์ความเป็นภูฏาน ขนาบข้างด้วยภูเขาทั้งซ้ายและขวา  รูปพระมหากษัตริย์ทั้ง 5 พระองค์ ที่ประชาชนชาวภูฏานรักและเคารพยิ่ง นักท่องเที่ยวต่างพากันถ่ายรูปบรรยากาศรอบ ๆ ตัวไว้เป็นที่ระลึก





เกือบบ่ายสองโมงแล้ว  ตั้งแต่ขึ้นเครื่องฉันยังไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย  จึงได้มีโอกาสใช้ห้องน้ำของสนามบินพาโรเป็นครั้งแรก เป็นชักโครกเหมือนบ้านเราทุกอย่าง ไม่มีอะไรแตกต่าง เพียงแต่ประตูห้องน้ำแต่ละห้องทำด้วยไม้หนา ลายไม้สวยแบบเดิม ๆ :) แต่ก็ใช้การได้ดี  ส่วนน้ำที่นี่ก็ไหลแรง และเย็น  อดคิดถึงตอนกลางคืนไม่ได้ว่า จะอาบน้ำได้มั้ยนี่ 
พอออกจากห้องน้ำ ก็มาต่อแถวเพื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง  แถวยาวมาก และคนสุดท้ายก็คือฉันอีกแล้ว 
‘ดีจัง  ฉันเป็นคนสุดท้ายของเที่ยวบินที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูฏาน’ ฉันให้กำลังใจเล็ก ๆ กับตัวเอง  ถึงแม้จะพะวงว่าไกด์ชาวภูฏานคงรอฉันนานมากแล้ว แต่ทำไงได้ เครื่องดีเลย์จริง ๆ นี่นา และฉันก็แค่แวะเข้าห้องน้ำ และก็แค่.....แถวมันยาว เท่านั้นเอง

หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็มารอรับกระเป๋าที่สายพาน  โชคดี ฉันไม่ได้เป็นคนสุดท้ายอีกแล้ว เพราะกระเป๋าฉันมาถึงเรียบร้อย ในขณะที่ยังมีคนมากหน้าหลายตากำลังชะเง้อรอกระเป๋าจากสายพาน  พอออกผ่านประตูทางออก ชายชาวภูฏานในชุด Gho (ชุดประจำชาติ) ยืนเรียงแถวราวกับรอต้อนรับแขกคนสำคัญ  ฉันรู้สึกเบลอขึ้นมากะทันหัน และออกจะตื่นเต้นว่าฉันจะเจอไกด์ของฉันมั้ย  สายตากวาดหา ชายคนนั้น ชายในรูปภาพที่คุณหลิงบอกว่าเขาจะเป็นคนดูแลฉันตลอดทริปนี้  ยังไม่เจอ นั่นก็ไม่ใช่ แล้วเขาอยู่ไหนล่ะนี่  ชายชุดโกะสีดำก้าวออกมานอกแถวพร้อมชูป้ายชื่อฉัน  เขาคือ Chimi Rinzin  หน้าตาเขานิ่งมาก  แต่หน้าฉันบานเป็นกระด้ง เหมือนเจอคนรู้จัก  ก็เขาเป็นคนเดียวที่ฉันต้องฝากชีวิตไว้ในระหว่างอยู่ที่ภูฏาน ฉันปรี่เข้าไปหาเขาโค้งให้เขาก่อนเอ่ยทักทาย “Hi Chimi , I’m Nareerat Nice to meet you” เขายิ้มให้นิดนึงแล้วก็โค้งก่อนที่จะรับกระเป๋าลากไป  ฉันแอบนึกในใจ  ‘เขาจะโมโหหิวอยู่หรือเปล่านี่’ อย่าว่าแต่เขาเลย ฉันเองก็หิวมั่ก ๆ เช่นกัน

ชิมิพาฉันเดินไปที่ลานจอดรถ  รถใหม่เอี่ยมหลายคนจอดเรียงเป็นแถวยาว ขอย้ำว่ารถใหม่จริง ๆ มีทั้งคันเล็ก และคันใหญ่  แล้วเราก็มาถึงรถประจำตำแหน่งของฉัน Hyundai สีฟ้า พร้อมคนขับ หนุ่มน้อยนามว่า Ganesh เขาจะเป็นคนขับรถสำหรับฉันโดยเฉพาะ
 “Good afternoon Madam” Ganesh ทักทายฉันพร้อมยิ้ม Ganesh ผิวสีเดียวกับฉัน เหมือนแขก อัธยาศัยดี และก็ขับรถดี  ส่วน Chimi นั้น จะเหมือนคนจีน ดูนิ่ง ๆ ซึ่งจะเป็นมาดของเขา แต่เมื่อสนิทแล้ว เขาเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน และเขาก็มีความพยายามอย่างมากในการพูดอังกฤษให้ฉันเข้าใจ  แม้ว่าอาจต้องสองถึงสามรอบก็ตาม
Chimi บอกกับฉันว่า โปรแกรมมีอันต้องเปลี่ยนแปลง เพราะเครื่องบินดีเลย์   ทำให้เวลาเที่ยวที่พาโรจะน้อยลง  เขาก็บอกว่าจะพาฉันไปทานข้าวก่อน  และเมื่อเขารู้ว่ากำลังเจอศึกหนัก กับหญิงไทยที่ภาษาอังกฤษอ่อนด้อย  พูดเก่งอยุ่แต่คำว่า sorry , pardon เขาก็เริ่มพูดอังกฤษให้ช้าลง เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเหนื่อยในการพูดซ้ำหลายรอบมากนัก 
มื้อแรกของฉันที่ภูฏานเริ่มประมาณบ่ายสองโมงหน่อย ๆ  ซึ่งฉันเองก็กำลังหิวโซทีเดียว นี่ถ้า Chimi ให้ฉันไปเที่ยวโดยไม่ได้กินข้าว คงมีเคืองกันแน่นอน    เขาพามาที่ร้านอาหารในเมืองพาโร ซึ่งร้านอาหารที่นี่จะไม่เหมือนบ้านเราที่เข้าประตูหน้าได้เลย  แต่ร้านที่นี่จะเดินไปเข้าประตูข้างและเดินขึ้นบันไดไปอย่างน้อยก็ 2 ชั้น แล้วจึงเขาไปนั่งในห้องอาหาร  เขาจัดให้ฉันนั่งทานเพียงคนเดียว อาหารที่นี่จัดแบบบุฟเฟต์ ซึ่งเราไม่ต้องลุกไปตักเอง นั่งรอ แล้วเขาจะเสริฟใส่ชามแสตนเลสพร้อมช้อนกลาง  หลัก ๆ จะมีข้าวกล้องเม็ดเล็กร่วน อีร์มาดาชี่(เป็นพริกต้มกับชีส รสชาติอร่อยเผ็ดดี) ผักผัก, ซุป (คล้าย ๆ แกงกระหรี่ แต่รสชาติจืดกว่า) ไก่ในน้ำซอส และจะมีอาหารที่ทำจากมันอีก 2 อย่าง ซึ่งเขาก็บอกชื่อมา แต่ฉันจำไม่ได้เอง สรุปรวมแล้วมื้อนี้มีอาหารมาเสริฟถึง 6 อย่าง ฉันตกใจมากว่าทำไมเขาถึงเสิรฟเยอะขนาดนี้ 
‘ของฉันเหรอ มันเยอะมากสำหรับฉันเลยนะ’  ซึ่งเด็กเสริฟก็ยืนยันว่า ‘ใช่ทั้งหมดนี่ล่ะครับมาดาม’ และทุกมื้อที่ภูฏานสำหรับนักท่องเที่ยว ก็จะจัดประมาณนี้ทุกที่ และทุกมื้อ อย่างน้อยมื้อนึงต้องมีอาหารให้แขกทาน  4 อย่างขึ้นไป  ยกเว้นมื้อเช้า ที่จะจัดเป็นแบบ American Breakfast ซึ่งฉันเข้าใจเอาเองว่า สะดวก และเผื่อลูกค้าเบื่ออาหารภูฏาน จึงได้จัดเมนูอาหารฝรั่งไว้ในมื้อเช้า ส่วนตัวฉันแล้ว ฉันชอบทานข้าวเช้ามากกว่า พอเจอ American Breakfast ทุกวัน ทำเอาฉันทานได้น้อยลงเลยทีเดียว

ความคาดหวังของฉันต่อไป หากได้กลับไปภูฏานอีก  ฉันจะลองไปใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ ดูบ้าง  อยากรู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขาเป็นกันยังไง  เพราะถ้าไปแบบเป็นคุณหนูแบบนี้  ฉันก็คงไม่สามารถเข้าถึงแก่นชีวิตของภูฏานที่แท้จริงได้

เมื่ออิ่มพอได้ที่  Chimi ก็พาฉันออกเที่ยวกันวันนั้นเลย  โดย Chimi ให้เที่ยวในเมืองพาโรบางแห่งก่อน  ที่แรกที่เราไปคือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของภูฏาน ชื่อว่า ตาซอง (Ta Dzong) คำว่า Dzong นี้ หมายถึงป้อมปราการ ไกด์เล่าว่า จะสร้างป้อมปราการไว้ป้องกันศัตรูผู้รุกราน  ดังนั้น Dzong ที่ภูฏาน จึงมีมากมายและตั้งอยู่บนเขา หรือเนินเขา เป็นความงดงามและอลังการที่ยังคงเหลือไว้จนถึงทุกวันนี้ 
สำหรับ Ta Dzong นี้ เดิมคือป้อมปราการที่มีไว้สังเกตการณ์ เรียกว่า Watch Towerสร้างตั้งแต่ปี 1641






สำหรับภายในพิพิธภัณฑ์นั้น ทางรัฐบาลสงวนการถ่ายรูปภายใน และผู้ที่จะเข้าพิพิธภัณฑ์ต้องฝากกระเป๋าสัมภาระไว้ในตู้ล๊อกเกอร์ ไม่สามารถถือเข้าไปภายในอาคารได้  ฉันจึงไม่สามารถเก็บรูปบรรยากาศภายใน แต่พอจะจำภาพที่ฉันพบภายในอาคารนี้ได้  ภายในค่อนข้างเย็นและมีแสงสว่างน้อย  เป็นอาคารที่อายุหลายร้อยปี  แต่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และมีความขลังซ่อนอยู่ ภายในแต่ละชั้นจะจัดแสดงแตกต่างกันออกไป อาทิ ของใช้โบราณ เหรียญ เครื่องประดับ ชุดประจำชาติ ภาพทังคา (เป็นภาพวาดที่วาดบนผ้า มีลวดลายเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในหลากหลายรูปแบบ)  และในชั้นบนสุด เป็นรูปปั้นในทางศาสนา ชื่อ tree of life  เป็นประติมากรรมที่มีแนวคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาของทางตะวันออก


ชาวภูฏานจะให้ความสำคัญต่อศาสนาเป็นอย่างมาก โดยนับถือศาสนาพุทธ นิกายวัชรยาน (หรือมหายานพิเศษ) ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ 2 นิกายคือ เถรวาท และมหายาน นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกไปแบ่งเป็น 3 นิกาย เนื่องจากวัชรยานไม่ยอมรับว่าตนคือมหายาน เนื่องจาก มหายานมีต้นเค้ามาจากท่านโพธิธรรม (ปรมาจารย์ตั๊กม้อ) ส่วนวชิรยานมีต้นเค้ามาจากท่านคุรุปัทมะสัมภวะ (Guru Padma Sambhava) ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wikipidia
 ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่ฉันสนใจมากที่สุด  คงจะเป็นภาพทังคา (Thangka Painting) ที่แขวนเรียงรายนับร้อย ๆ ภาพ เป็นภาพที่ยังคงความสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีอายุมากเป็นร้อยปี  ภาพทังคานี้ จะเป็นภาพวาดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ พระโพธิสัตว์ หรือไม่ก็พระพุทธประวัติ  ซึ่งวาดลงบนผ้า  ตามปกติจะมีไว้เพื่อเคารพบูชาเหมือนพระพุทธรูป แต่จะไม่นำออกมาแขวนไว้ตลอด  จะนำออกมาแขวนให้ได้สักการบูชาเฉพาะในงานพิธีสำคัญเท่านั้น
หลังจากชมพิพิธภัณฑ์ตาซองแล้ว  ก็ออกเดินทางไป “รินปุงซอง” (Rinpung Dzong) เป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นมาในศตวรรษที่ 16 โดยท่าน Shabdrung Ngawang Namgyal  ลามะทิเบต และเป็นผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นแห่งแผ่นดินภูฏาน พระองค์ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างป้อมปราการ เพื่อป้องกันการรุกรานของทิเบตและมองโกล
สำหรับชายชาวภูฏานหากจะเข้าไปตาม Dzong  หรือสถานที่ราชการสำคัญนั้น ต้องมีผ้าพาดบ่า เหมือนในรูป  เรียกว่า Kabney  ส่วนผู้หญิงจะมีผ้าพาดบ่าเหมือนกัน เรียกว่า Rachu








จากป้อมรินปุง  เราก็เดินทางต่อไปวัดคิชูลาคัง (Kichu lhakhang) เป็นอีกวัดหนึ่งถึงแม้ไม่ใหญ่มาก แต่ก็เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในภูฏาน  สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 7 โดย King Songtsen Gampo





บรรยากาศภายในวัดจะมีมุมสวย ๆ ของดอกไม้ ต้นไม้ประดับ ทำให้ดูร่มรื่นและสวยงาม โดยเฉพาะดอกไม้ที่กำแพงวัด คล้ายกุหลาบบ้านเรา แต่ดอกเล็กกว่ามาก













และหากสังเกตตามกำแพงในตัววัดด้านใน จะมีกงล้อสีแดงฝังติดไว้โดยรอบวัด  กงล้อนี้มีชื่อว่า กงล้อมนตรา (Prayer wheel)
ในกงล้อมนตรานี้จะมีคำสวด โอม มณี ปัทเม หุม เขียนไว้  เราสามารถหมุนกงล้อไปตามเข็มนาฬิกาและกล่าวคำสวดนี้ เชื่อกันว่าเมื่อเราหมุนกงล้อ คำสวดนี้ก็จะกระจายกังวานไปรอบ ๆ เพื่อปกป้องคุ้มครอง  ฉันรู้สึกว่าคล้าย ๆ กับ ระฆัง หรือฆ้องที่ติดไว้ตามวัดของบ้านเรา  เพียงแต่กงล้อมนตรานั้นไม่มีเสียง  และระหว่างการเดินทาง เราจะมักพบเห็นเขาติดตั้งกงล้อมนตราไว้ที่หน้าหมู่บ้าน หรือทางไหลของน้ำตกจากภูเขา เพื่อใช้พลังน้ำขับเคลื่อนให้กงล้อหมุนเอง  เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองภัยให้กับคนในหมู่บ้าน  หรือมีกงล้อมนตราแบบพกพา  ที่คนภูฏานใช้แกว่ง(แทนการหมุน) และสวดมนต์บทดังกล่าว






เย็นมากแล้ว ยังมีหลายที่ในเมืองพาโรที่ฉันยังไม่อาจไปได้ในเวลานี้  เนื่องจากเราต้องเดินทางเข้าเมืองทิมพู เพื่อให้ถึงที่พักก่อนมืด  ส่วนตัวฉันเองก็เริ่มจะเพลียจากการเดินทางบ้างแล้ว เพราะตั้งแต่ลงเครื่องมา ยังไม่หยุดพักยาว ๆ เลย 



Chimi บอกว่าเราต้องใช้เวลาการเดินทางเข้าเมืองทิมพู ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง  เส้นทางก็ผ่านไปตามโค้งขอบเขา  ดูตื่นตาตื่นใจมากสำหรับการเดินทางวันแรกของฉัน  แต่ด้วยความเพลียบวกกับเส้นทางโค้งไปโค้งมา ....โค้งไปโค้งมา..... แล้วก็....โค้งคอหลับไป มารู้สึกตัวอีกทีตอนเสียงไกด์ของฉันส่งภาษาแปลก ๆ กับคนขับรถ และหันมาบอกฉันว่า เรามาถึงทิมพูแล้ว  และจะพาฉันเข้าที่พักเลย  เหลือบดูนาฬิกาก็เกือบหกโมงเย็นแล้ว  แต่ฟ้ายังใสอยู่เลย รู้สึกได้ถึงอากาศที่เย็นกว่าในเมืองพาโร  ฉันจึงต้องไขกระจกรถขึ้นอีกนิด  รถที่นี่มีแอร์ แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้มันเลย เพียงแค่เปิดหน้าต่าง ลมเย็น ๆ จากอากาศภายนอกก็จะแทรกตัวเข้ามา ฉันกระชับคอเสื้อให้ปิดคอมากขึ้น เพราะอากาศเย็นเกือบหนาว  คิดในใจว่า ขนาดหน้าร้อนยังรู้สึกเย็นขนาดนี้  ถ้าเข้าหน้าหนาว  คงแข็งแน่เลยเรา  ที่นี่ถึงแม้เป็นเมืองหลวง แต่ก็ไม่ได้ดูวุ่นวาย

ที่พักของฉันอยู่ในเมือง ชื่อโรงแรม  Phuntsho Pelri  ห้องพักเป็นเตียงเดี่ยว 2 เตียง มีเครื่องทำความร้อน และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งเหมือนโรงแรมบ้านเราทุกอย่าง  ถึงนอนคนเดียวก็รู้สึกปลอดภัย ไม่น่ากลัว



  Chimi ส่งฉันที่โรงแรม พร้อมแจ้งกำหนดการเดินทางวันพรุ่งนี้  โดย Chimi จะมารับฉันที่โรงแรมตอน 8.30 น.  และย้ำเรื่องดินเนอร์ของฉันว่า ให้ลงมาทานที่ห้องอาหารของโรงแรมเวลาทุ่มนึง อีกทั้งยังบอกว่าถ้าฉันมีปัญหา ให้เจ้าหน้าที่โรงแรมโทรติดต่อเขาได้ตลอดเวลา   ย้ำแล้วย้ำอีก ส่วน Chimi จะกลับไปนอนที่บ้านเขา ซึ่งอยู่ในทิมพูเช่นกัน  ฉันรู้สึกเหมือนว่า เพื่อนกำลังจากไป  ‘เราจะเป็นใบ้มั้ยหนอ’ ถึงแม้ฉันจะไม่ค่อยได้คุยกับ Chimi มากนัก แต่เขาก็เป็นเพื่อนคนเดียวที่นี่ คนเดียวที่ฉันรู้จัก มันอดที่จะรู้สึกห่อเหี่ยวไปบ้างที่ต้องอยู่คนเดียว 



ไม่มีความคิดเห็น:

Your are in my mind

Your Welcome
Powered By Blogger