Translate

30 กันยายน 2555

Bhutan 2nd time of Happiness ตอนที่ 2 Chill out @ Trongsa

28 Aug 2012
อยู่กรุงเทพไม่เคยคิดที่จะตื่นเช้าเลยซักวัน แต่พอมาอยู่ภูฏาน หกโมงกว่า ๆ ก็ตื่นแล้ว เปิดหน้าต่างมาสูดอากาศยามเช้า แม้จะยังไม่มีวี่แววของแสงอาทิตย์ แต่ฟ้าก็กระจ่างตา.... ที่นอกหน้าต่างทุกอย่างยังคงนิ่งเงียบ มีเพียงกลุ่มควันที่ลอยออกมาจากบ้านชาวนาเท่านั้น ที่ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ฉันเพียงคนเดียว ที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้
ผอบจิกะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่บ้านแต่ละหลังจะปลูกกระจายตัวอยู่ตามเชิงเขา เป็นบรรยากาศของชนบทที่เงียบสงบ มองไปทางไหนเราก็จะเห็นภูเขาตั้งตระหง่านและปกคลุมไปด้วยสนไซปรัสทั้งหุบเขา ที่นี่อากาศหนาวเย็นตลอดปี  โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว จะมีหิมะตก และในช่วงนั้นเราจะพบเห็นฝูงนกกระเรียนคอดำ (black crane) จำนวนมาก อพยพมาอาศัยอยู่ที่นี่  ที่ผอบจิกะจัดทำหอดูนกกระเรียน เป็นอาคารทรงเหลี่ยมที่สามารถดูวิวได้แบบ panorama หรือที่เรียกว่า "Crane info Centre" ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวได้มาส่องกล้องดูนก และเป็นแหล่งข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับนกกระเรียนคอดำด้วย





วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่อากาศยามเช้าดูสดชื่น อาจเป็นเพราะสายฝนเมื่อค่ำคืนที่โปรยทิ้งไว้ ทำให้ในเช้าวันนี้ ใบไม้ใบหญ้าต่างดูชุ่มฉ่ำ สดชื่น จนฉันเองก็ไม่อยากเดินทางไปไหนแล้ว
ถึงแม้ว่ายังเหลือเวลาอีกมาก กว่าจะถึงเวลานัดหมายกับ Karma แต่ฉันก็ไม่อยากจะทิ้งตัวเองอยู่แต่ในห้อง จึงรีบอาบน้ำแต่งตัวและแพ็กกระเป๋าให้พร้อมไว้ก่อน  ก่อนออกไปเดินสูดอากาศสดชื่นบริเวณรอบ ๆ ที่พัก... ฉันได้ทำความรู้จักกับเจ้าหนูตัวน้อย  ถึงแม้จะยังพูดไม่ได้ แต่เจ้าหนูก็ยิ้มร่า และเดินเตาะแตะขึ้นบันไดมาหาฉัน พอฉันขอจับมือเท่านั้น เจ้าหนูก็หัวเราะชอบใจใหญ่ เลยโพสต์ภาพความน่ารักของเจ้าหนูน้อยมาไว้เป็นที่ระลึก
เมื่อรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อย เราก็ออกเดินทางต่อ  โดยวันนี้มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ทรองซา (Trongsa) ซึ่งระหว่างเส้นทางจากผอบจิกะไปทรองซาใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ระยะทาง 73 กิโลเมตร
แต่ก่อนออกเดินทางเราแวะไปทำบุญที่ Gangtey Monastry ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านผอบจิกะ





วิวจาก Gangtey Monastry







Gantey Monastry




Panorama @ Gantey

เห็นวิวสวย ๆ แบบนี้ Karma บอกว่าจะพาฉันมาเดิน trail สั้น ๆ ซัก 4 กิโลเมตร แต่ไม่ใช่วันนี้  Karma บอกว่า หลังจากกลับจากบุมถังแล้ว เราจะได้มาเดินเล่นด้วยกันที่นี่อีกครั้ง























ฉันเรียกที่นี่ว่าปากทางเข้าหมู่บ้านผอบจิกะ จะเห็นทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่าม


 เส้นทางจะผ่านสถานที่สวย ๆ หลายแห่ง ที่ฉันบอกว่าสวยนี้ หมายถึงความสวยงามตามธรรมชาติของหุบเขา ที่ปลายฝนจะเห็นดอกไม้งาม ๆ และหุบเขาของทุ่งบัควีคและทุ่งมัสตาร์ด
สำหรับคนที่เกิดในเมืองร้อนอย่างฉัน การได้เห็นอะไรที่แปลกตาจากที่เคย มันช่างเป็นความสุขที่ทำให้ฉันยิ้มได้ เป็นความสวยงามที่น่าประทับใจที่สุด









Karma บอกว่าเส้นทางทรองซา เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง The Traveller & Magician (มิน่าล่ะ รู้สึกคุ้นตาจัง :) รู้สึกยินดีเป็นหนักหนาที่ได้มีโอกาสตามรอยภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ  เพราะแค่ได้เห็นวิวในหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้หายคิดถึงภูฏานไปได้มาก








stupas@pelela pass





เรามาถึงที่พักประมาณเที่ยงกว่า ๆ    รู้สึกหิวจัง แต่ก็ยังทานไม่ได้  เพราะว่าที่นี่เขาทานอาหารเที่ยงตอนบ่ายโมง :) (ส่วนอาหารค่ำก็ทุ่มกว่า ๆ ไปแล้ว ช่วงกลางวันฉันยังไม่หิวมากนัก แต่ช่วงค่ำนั้น ช่างเป็นการรอคอยที่ยาวนานเหลือเกิน ดังนั้น ฉันจึงต้องมีเสบียงสำรองกินไปก่อน  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนม/ช็อคโกแลต ที่เตรียมมาจากเมืองไทย)
ระหว่างรอ ก็เข้าที่พัก ล้างหน้าล้างตา แล้วเดิมชมรีสอร์ท วันนี้เราจะพักกันที่ Yangkhil Resort  มาดูรีสอร์ทสวย ๆ กันดีกว่า
ที่นี่ตั้งอยู่บนภูเขา เป็นทำเลที่มองเห็น Trongsa Dzong ได้อย่างชัดเจน  ที่พักก็สไตล์โมเดิร์น อุปกรณ์อำนวยความสะดวกค่อนข้างพร้อมทุกอย่าง ยกเว้นโทรทัศน์ที่ไม่มีให้ดู (ผอบจิกะ ทรองซา และบุมถัง ที่พักล้วนแต่ไม่มีโทรทัศน์ อาจเนื่องจากระยะทางที่ห่างไกล กำลังไฟที่ผลิตได้ อาจมีปริมาณจำกัด  แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับฉัน เพราะตอนอยู่กรุงเทพก็แทบจะไม่ได้ดูละครเลย)
หน้าห้องพักของฉัน มุมระเบียงสามารถเห็น Trongsa Dzong ได้ชัดเจน




สวนสวย ๆ ของรีสอร์ท (ในบ่อมีเลี้ยงปลาคราฟด้วย :) ปลาคราฟภูเขา 555

วิวในเมืองทรองซาที่ปลูกบ้านและที่อยู่อาศัยบนเนินเขา


หลังจากมื้อกลางวัน เราก็นั่งรถเข้าไปในเมืองทรองซา สถานที่แรกที่เราไปชมคือ Tower of Trongsa ซึ่งเดิมคือ Watch Tower หรือ Ta Dzong เป็นป้อมสังเกตการณ์ข้าศึก ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บสิ่งของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนแสดงถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่และความศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา  (ภายในไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป เลยไม่มีรูปด้านในมาให้ดูกัน)  ซึ่งภายในอาคารหอคอยนี้เราได้ขึ้นไปที่ชั้นบนสุด สามารถมองเห็นวิวของทรองซาแบบ 360 องศา  ได้เห็นแม่น้ำ Mangde Chhu  แม่น้ำแห่ง Trongsa




Karma เล่าว่า สมัยก่อนหากจะเดินทางจาก Mongklar ซึ่งอยู่ภูฏานฝั่งตะวันออก เพื่อจะไปฝั่งตะวันตก ก็จะต้องมาผ่านที่ Trongsa ก่อน กว่าจะเดินทางถึง Thimpu ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ 




 หลังจากนั้นเราก็ลงมาแวะชม Trongsa Dzong  ซึ่งเป็นป้อมปราการที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของภูฏาน และเป็นพระราชวังของพระราชาองค์ที่ 1 แห่งภูฏาน



 เราจบภารกิจการเดินเที่ยวชมเมือง Trongsa แบบไม่เหน็ดเหนื่อย กลับที่พักก็เกือบ ๆ ห้าโมงเย็น  ยังมีเวลาเดินเล่นในรีสอร์ท และไปนั่งมองวิวยามเย็นที่รีสอร์ท  วิวที่นี่สวย แต่ใจฉันก็ยังแอบนึกถึงผอบจิกะ เขาจะเรียกว่านอกใจได้หรือเปล่า :) เหมือนอยู่กับคนนี้ แต่ใจไปอยู่กับอีกคน 555  ก็ฉันรักผอบจิกะยิ่งกว่าอะไรซะอีก จะไม่ให้นึกถึงก็คงไม่ได้



ความงามนั้นแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือความเป็นธรรมชาติของที่นี่ ฉันหวังว่าความงามแบบนี้จะอยู่ไปนาน ๆ ไม่ว่ากี่ปีก็ไม่มีเปลี่ยน


พรุ่งนี้เราจะต้องเดินทางต่ออีกเล็กน้อย  เขาว่ากันว่าที่บุมถัง (Bumthang) เป็นสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย  ฉันเองก็ไม่เคยไป พรุ่งนี้เราคงจะรู้กันแล้วว่าเป็นจริงอย่างกล่าวอ้างหรือเปล่า



25 กันยายน 2555

Bhutan 2nd time of Happiness...ตอนที่ 1 เดินไปตามฝัน

ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า.....
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ฉันได้แต่บอกกับตัวเองว่า คงไม่ได้กลับมาที่ภูฏานอีกแล้ว หลังจากการเดินทางครั้งนั้น  ฉันก็รู้สึกว่าตกหลุมรักภูฏานเสียแล้ว... ถ้าเปรียบภูฏานเป็นชายหนุ่ม คงจะเป็นชายหนุ่มที่ดูภายนอกแสนจะธรรมดา แต่เมื่อได้ทำความรู้จัก เขาก็เป็นผู้ชายที่วิเศษและน่าอบอุ่นเป็นที่สุด และคงหาใครที่เหมือนเขาไม่ได้อีกแล้ว
หลังผ่านมากว่า 1 ปี แต่ความคิดถึงไม่ได้น้อยลงเลย  สิ่งที่คิดว่าคงจบแล้ว แต่ความรู้สึกยังไม่ยอมจบ เรื่องราวของการเดินทางครั้งที่ 2 ของฉันจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ฉันเรียกการเดินทางครั้งนี้ว่า  Bhutan 2nd time of happiness  
 27 Aug 2012  วันแรกของทริปครั้งที่ 2 ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อปีที่แล้วมากนัก ต่างกันแค่ที่ว่า วันนี้ฟ้าสวย ใส ไม่มีฝน และเที่ยวบินมาถึงเช้ากว่าเมื่อครั้งที่แล้ว  รวมถึงไกด์คนใหม่ สำหรับทริปนี้คือ Mr. Karma Dhendup  :)
ระหว่างทางจาก Paro วิวยังเหมือนเดิมไม่ได้แตกต่างจากคราวที่แล้วนัก ที่แตกต่างอาจจะเป็นเพิงเล็ก ๆ ข้างทาง ที่ชาวบ้านเอาผลไม้ พืชผักมาขาย

บรรยากาศข้างทางจาก Paro สู่ Thimpu

ทริปนี้ฉันได้รูปสวย ๆ กลับมาหลายใบ เพราะ  Karma รู้ใจ  เห็นมุมไหนสวย น่าสนใจ Karma ยินดีให้คนขับจอดรถโดยไม่ต้องร้องขอ ฉันเลยรู้สึกประทับใจมาก
ทริปที่วางไว้สำหรับวันแรก ก็คือรักแรกของฉัน  "ผอบจิกะ (Phobjika Valley)" ถึงแม้วันแรกนี้ ที่ผอบจิกะจะเป็นเพียงที่พักค้างคืนเท่านั้น เนื่องจากระยะทางไกลถึง 194 กม. จึงทำให้ไปไปถึงผอบจิกะก็เย็นมากแล้ว  แต่ฉันก็ยังรู้สึกดีที่ได้กลับมา
ทริปนี้ฉันตั้งใจขอเป็นพิเศษกับคุณหลิงว่า จัดทริปยังไงก็ได้ แต่มีโจทย์ข้อเดียวที่สำคัญมาก คือขออยู่ผอบจิกะ 2 วัน จะเดินทางไกล ยาวนานแค่ไหน ไม่เป็นไร ขอแค่ได้ไปถึงก็พอใจแล้ว ซึ่งคุณหลิงก็ช่วยเหลือจัดการให้จนเรียบร้อย


และสถานที่สวย ๆ ต้องแลกด้วยความทรหดอีกเล็กน้อย...จาก Paro ไป Phobjika  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ทริปนี้จึงออกจะทรหดนิดนึงสำหรับคนที่ไม่ชอบนั่งรถนาน ๆ
แต่สำหรับใครก็ตามที่สนใจเรื่องราวระหว่างทางไม่น้อยไปกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้  คงจะมีความสุขเล็ก ๆ เหมือนกับฉัน เพราะเพียงแค่ได้มองออกไปนอกหน้าต่าง ภาพข้างทางของภูเขาที่ทอดรับสลับกันลูกแล้วลูกเล่า ก็ชวนให้น่าสนใจไปได้ตลอดทาง

และนี่คือภาพระหว่างทางที่แสนสวยของ Dochula pass
หากนับรวมกับเมื่อปีที่แล้ว ฉันผ่านที่ Dochula pass ประมาณ 4  ครั้ง และยังไม่มีครั้งไหนที่ฉันเห็น  Dochula pass ในวันที่ฟ้าใสซักครั้ง เนื่องจากสถานที่นี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,150 เมตร อากาศเย็นมาก ซึ่งครั้งที่แล้วฝนตก  หรือถ้าฝนไม่ตก
ก็หมอกลงจัด  จึงยังไม่มีโอกาสได้เห็นฟ้าแจ่ม ๆ ซักครั้ง ไกด์บอกว่าหากมาช่วงหน้าหนาว เราจึงจะเห็นฟ้าใสและสามารถเห็นวิวภูเขาหิมาลัยด้านตะวันตกได้อีกด้วย

ที่เห็นในรูปคือ 108 สถูป หรือที่เรียกกันว่า Dochula Chorten  สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับทหารภูฏานที่เสียชีวิตจากสงครามอัสสัม


และอีกด้านหนึ่งของ 108 สถูป ก็คือวัด Drukwangyel Lhakhang ซึ่งสร้างโดยพระราชินีในพระราชาองค์ที่ 4  ด้านในมีภาพเขียนของเจ้าหญิงและเจ้าชายทุกพระองค์ ซึ่งด้านบนเราสามารถมองวิวได้แบบ Panorama














หลังจากแวะเที่ยวชมภายในแล้ว เราก็เดินทางเข้าผอบจิกะกันต่อ ซึ่งยังต้องเดินทางอีกยาวไกล นอกจากนี้มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวควรรู้คือ ระหว่างทางอาจมีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะการเดินทางที่ภูฏานจะสัญจรบนเทือกเขาสูงตลอดเส้นทาง บางครั้งอาจมีปัญหาดินสไลด์บ้าง ปิดซ่อมแซมทางบ้าง  ก็อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ  ก็บอกแล้วว่า ข้างทางมีอะไรให้เราน่าสนใจอยู่เสมอ :)
สำหรับทริปนี้ ก็เป็นตามธรรมเนียมเช่นกัน เราต้องจอดรอให้คนงานขนหินจากภูเขา (ที่ทราบจากไกด์ว่าเป็นของรัฐบาล) ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการทำงานตามปกติ ไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยอะไร คนงานจะขนหินจากภูเขาลงมาทำเขื่อน ภูเขาเป็นลูก ๆ ถูกแม็คโครและอุปกรณ์ต่าง ๆ เจาะกันตรงนั้น    ทางรัฐบาลจะกำหนดเวลาทำงานเป็นช่วง ๆ ให้รถได้วิ่งผ่านได้เป็นรอบ ๆ  สำหรับรอบของฉันก็เบาะ ๆ แค่ 30 นาที ระหว่างนี้ ก็ทำความรู้จักกับ karma คุยกันไปเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข

แสงแดดเริ่มบางตา หมอกจาง  ๆ เริ่มคล้อยต่ำลงมาละอยู่ตามยอดเขา อากาศเริ่มหนาวขึ้น พร้อมกับมีสายฝนพรำ ทำให้คิดถึงบรรยากาศครั้งแรกที่เคยมา... ความรู้สึกเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ว่าคราวนี้ แค่เห็นเส้นทางที่คุ้นเคยฉันก็รู้แล้วว่าอีกไม่ไกลก็จะถึงผอบจิกะแล้ว .... ฉันยิ้มด้วยความดีใจ เหมือนตัวเองได้กลับมาบ้านซักที  พอเข้าเขตหมู่บ้านเม็ดฝนก็ซาลงแล้ว    เสียดายตรงที่ว่ามาถึงผอบจิกะก็เย็นแล้ว เลยไม่ได้มีโอกาสไปเดินเล่นที่ไหน  ตรงเข้าพักที่โรงแรม Gakling Guest house ซึ่งเป็นตึกสร้างใหม่

ที่นี่เป็นโรงแรมที่ห้องน้ำกว้างมาก :) มีเครื่องทำน้ำอุ่น และมีเครื่องทำความร้อน อาหารค่ำอร่อยมากโดยเฉพาะเมนูซุปไข่ อร่อยมาก  อร่อยจนอยากทำกินเองที่กรุงเทพเลยล่ะ :)
วิวผอบจิกะที่มองจากระเบียงชั้นบนของโรงแรม







ตามไปดูม้าไทย กับ "วันนี้...ที่ยังเหลืออยู่" ณ ชมรมอนุรักษ์ม้าพื้นบ้านสิรินธร


นอกจากการเดินทางไปเยือนสามพันโบก ที่จ.อุบลราชธานี แล้ว อีกหนึ่งโปรแกรมที่ทำให้ฉันตัดสินใจมากับทริปนี้ ก็คือ การได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์ม้าพื้นบ้านสิรินธร ด้วย




ชายวัยกลางคนผอมสูง ผิวคล้ำ สวมเสื้อแจ๊กเก็ตตัวบางกับกางเกงขาสั้นสีดำ ออกมาต้อนรับคณะของเราที่หน้าชมรมฯ ด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร เขาคืออาจารย์ชูชาติ วารปรีดี ประธานชมรมอนุรักษ์ม้าพื้นบ้านสิรินธร และเป็นเจ้าของพื้นที่ชมรมฯแห่งนี้ ที่ ๆ เราจะมานอนพักแรมในค่ำคืนนี้ 



“จะกางเต้นท์นอน หรือจะนอนบนเรือนก็ได้ ตามสะดวกเลยครับ” อาจารย์กล่าวกับเราพร้อมรอยยิ้มที่ดูเหมือนจะติดอยู่บนใบหน้าตลอดเวลา อาจารย์บอกว่า ที่นี่ไม่ได้ทำในลักษณะของโฮมสเตย์อย่างที่กำลังนิยมกันอยู่ตอนนี้ เพราะออกจะผิดวัตถุประสงค์หลักของชมรมฯ ‘อาจารย์ตั้งใจจะอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าจะทำเป็นธุรกิจ’ และที่นี่ก็มีอาจารย์ดูแลอยู่เพียงคนเดียว คงไม่สามารถเปิดให้ใหญ่โตอะไรนัก อาจารย์บอกว่า
“แค่พอมีเลี้ยงม้าให้อิ่ม... ก็ดีใจแล้ว”


กลุ่มของเราเลือกที่จะนอนเต้นท์ส่วนหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งเลือกนอนบนเรือนไม้ ต่างก็จัดแจงหิ้วข้าวของลงจากรถเพื่อจัดที่หลับที่นอนของตัวเอง หลังจากกางเต้นท์แล้ว เราก็นั่งรถเข้าไปในตัวตลาดที่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร แวะซื้อกับข้าวพื้นเมืองมาทานกัน อาจารย์ยกห้องครัวให้คณะของเราประกอบอาหาร ส่วนอาจารย์ก็ไปตัดลูกขนุนผลโตมาให้เราได้ทานกันมื้อเย็นด้วย กลิ่นขนุนหอมโชยมาไม่แพ้กลิ่นกับข้าวมากมายที่เราซื้อมาจากตลาด กุ้งแม่น้ำย่างไฟกรุ่นถูกตักใส่จาน แล้วเอามาวางกันกลางลาน ปูเสื่อนั่งล้อมวง ‘ฉันห่างหายชีวิตแบบนี้ไปนานมากเท่าไหร่แล้วหนอ’ พวกเรานั่งกินข้าวไป พร้อมกับฟังเรื่องเล่าจากอาจารย์ ที่มีมากมายให้ฟังได้ไม่เบื่อ 

อาหารพร่องไปหลายอย่างแล้ว แต่ทุกคนก็ยังนั่งล้อมวงฟังอาจารย์เล่าเรื่องของชมรมฯ ให้เราฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ หลากหลายคำถามพร่างพรูถามอาจารย์อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหมด ทำให้เราได้รู้ว่าม้าไทยตอนนี้ใกล้สูญพันธุ์แล้ว เนื่องด้วยเพราะม้าไทยตัวเล็กจึงไม่เป็นที่นิยม สู้ม้าฝรั่งที่ตัวใหญ่กว่าไม่ได้ จึงมีค่าแค่ถูกขายไปเป็นอาหารตั้งโต๊ะเท่านั้น อาจารย์จึงอยากจะอนุรักษ์พันธุ์ม้าไทยไว้ เพราะกลัวว่าจะสูญพันธ์ไปจากหมู่บ้าน จึงเริ่มทยอยนำเงินของตนเองที่มีอยู่ขอซื้อม้าจากคนในพื้นที่ ใหม่ ๆ ก็ลำบากพอดู มีตังค์บ้าง ไม่มีตังค์บ้าง ม้าที่เลี้ยงก็ผอมเพราะไม่ค่อยมีตังค์ซื้ออาหารเสริมให้ม้าได้กิน 



พอรวมตัวกันกับคนท้องถิ่นตั้งเป็นชมรมขึ้นมา สมาชิกชมรมก็จะรับม้าไปเลี้ยง เอาไปช่วยกันฝึก จนในปัจจุบันนี้ชมรมมีม้าอยู่ 32 ตัว เป็นม้าพื้นเมืองทั้งหมด แต่ด้วยม้าเริ่มเยอะ ทุนรอนก็ไม่ค่อยมี ก็เริ่มหารายได้จากการขายเสื้อเป็นของที่ระลึกบ้าง ซึ่งก็ช่วยทำให้ม้าที่นี่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ตอนนี้สามารถเอาม้าที่เลี้ยงไว้มาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากขึ้น



...คุณอาจจะสงสัยว่า ม้าแกลบตัวเล็กพวกนี้ จะทำประโยชน์อะไรเพื่อสังคมได้ ?
อาจารย์บอกว่า การขี่ม้าจะช่วยพัฒนาให้เด็กมีสมาธิได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กพิเศษหรือเด็กออทิสติสก์ หากได้มาลองขี่ม้าก็จะชอบมาก ทำให้สมาธิของเด็กนิ่งขึ้นเยอะ จึงเกิดแนวคิดที่จะให้เด็กหรือผู้สนใจได้ลองหัดขี่ หัดบังคับม้า แล้วก็พาขี่ม้าเที่ยวชมธรรมชาติ นอกจากช่วยเด็กแล้ว ม้าก็มีค่ายา ค่าอาหาร คนในท้องถิ่นก็จะมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวได้อีกด้วย จึงทำโครงการนี้ขึ้นมา แต่ติดที่ว่าบุคลากรในชมรมค่อนข้างน้อย บางทีถ้าจะมาก็ต้องติดต่อกันล่วงหน้า จะได้แจ้งสมาชิกชมรมมาช่วย ๆ กันดูแล หรือหากพวกเราจะไปเที่ยวไปพักแรมก็ขอให้โทรบอกกันล่วงหน้า 


นอกจากอาจารย์จะดูแลม้าแล้ว บางทีก็จะออกไปสอนเด็กในชุมชนให้รู้จักการใช้ชีวิตอยู่กับป่า อาจารย์บอกว่า เด็กที่นี่สู้เด็กในเมืองไม่ได้ ถึงแม้ไปเรียนหนังสือก็ยังเขียนหนังสือไม่เป็น เพราะวิถีชีวิตที่นี่กับเมืองกรุงต่างกัน การที่จะเรียนทันกันนั้น คงเป็นไปไม่ได้ “เด็กที่นี่พอตีสามก็ตื่นไปดักสัตว์ จับแมลงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว” เรื่องเรียนน่ะคงสู้กันไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องการดำรงชีพในป่านั้น เด็กที่นี่เอาตัวรอดในป่าได้ อาจารย์จึงอาสาพาเด็ก ๆ เข้าป่า ไปให้เรียนรู้ธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันของคนและป่า ให้เด็กมีจิตใจที่รักษ์ป่า ไปฝึก ไปสอน “ให้ธรรมชาติสอนชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม บรรดาผู้ปกครองในเมืองก็จะพาลูก ๆ มาพักกันที่นี่ ให้เด็กได้ใกล้ชิดกับป่า เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติ เด็กบางคนก็มาเรียนขี่ม้าโดยเฉพาะก็มี เด็กบางคนก็ผูกพันกับม้ามาก จะมาเยี่ยมทุก ๆ ปิดเทอมก็มี


ในรุ่งเช้าเพียงแค่ตี 5 แสงสีส้มยามเช้าแตะแต้มบนขอบฟ้าแล้ว ที่นี่จะสว่างเร็วมาก จึงต้องรีบตื่นเพื่อจะมาเก็บบรรยากาศยามเช้าของวันใหม่ อาจารย์เองก็ตื่นเช้าเช่นกัน และก็ยังปฏิบัติหน้าที่ตอบคำถามของฉันเหมือนเคย พลางพาไปดูคอกม้าที่เมื่อวานเรายังไม่ได้ไปเดินชมเลย


อาจารย์บอกว่าม้าต้องได้ขี่ มันถึงจะมีชีวิตและจิตใจ กระชุ่มกระชวย อาจารย์ก็บอกให้เราขี่ได้นะ ถึงม้าแกลบจะเป็นม้าตัวเล็กกว่าม้าพันธุ์อื่น ๆ แต่ก็แข็งแรงแล้วก็เลี้ยงไม่ยากนัก 
ตอนเช้าอาจารย์ก็จะให้อาหารเสริม แล้วสาย ๆ จึงค่อยปล่อยม้าไปกินหญ้า สิ่งหนึ่งที่เพิ่มความรู้ให้แก่ฉันคือ อาจารย์บอกว่าในหญ้าตามพื้นดินนั้นจะมีพยาธิ หากเราปล่อยม้าไปกินตอนเช้าที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ม้าจะติดพยาธิได้ง่าย จึงต้องปล่อยม้าไปในตอนสาย ๆ แดดดี ๆ พยาธิก็จะไม่ขึ้นมา หรืออย่างน้อยไข่พยาธิตามพื้นดินก็จะถูกความร้อนกำจัดไปได้ส่วนหนึ่ง นี่ก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลย
ม้าที่คอกก็จะมีชี่อเขียนไว้ เสมือนว่าคอกใครคอกมัน ก็เลยอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า อาจารย์จำชื่อม้าได้หมดทุกตัวมั้ย อาจารย์บอกว่า “จำได้ ...ได้ทุกตัวเลย ต่อให้เดินอยู่ข้างนอก ผมก็จำได้... เลี้ยงมากับมือ” อาจารย์สอนให้เราสังเกตม้าด้วยว่า ม้าตัวใดต้อนรับหรือไม่ต้อนรับเรา หากเราเข้าไปใกล้แล้วเขาเอาหูลู่ไปข้างหลัง แสดงว่าเขาไม่อยากให้เราเข้าไปใกล้ แล้วเวลาเข้าหาม้า ให้เข้าด้านหน้า อย่าเข้าจากด้านหลังของม้า เพราะอาจทำให้ม้าตกใจและดีดเราได้ หลังจากอาหารมื้อเช้า ฉันก็ได้ขึ้นขี่ม้าตามที่ตั้งใจไว้ อาจารย์พาเจ้าแซม ม้าแกลบสีขาวมาให้ฉันลองขี่ดู 


เจ้าแซมเป็นม้าสีขาว ดูจะเชื่องและนิ่งกว่าม้าตัวอื่น ๆ ก้าวแรกที่ได้ขึ้นไปอยู่บนอาน รู้สึกตื่นเต้นมาก กับการขึ้นขี่ม้าครั้งแรก อาจารย์จูงเจ้าแซมและพาออกเดินไปด้วยกัน อาจารย์เล่าว่า ตัวนี้ซื้อมาแพงกว่าตัวอื่น เจ้าของเดิมของแซมบอกขายในราคา 5,000 บาท แม้จะขอต่อรองราคา ก็ยังไม่ยอมขาย อาจารย์ก็ยังแวะกลับมาดูเจ้าแซมอีกที ปรากฎว่าเจ้าของได้ขายมันไปให้กับพ่อค้าเนื้อม้าแล้ว ตอนที่อาจารย์ไปถึงนั้น เจ้าแซมขึ้นไปรอชะตากรรมบนรถของพ่อค้าแล้ว อาจารย์จึงขอเจรจากับพ่อค้าเนื้อม้าคนนั้น แต่เค้าบอกอาจารย์ว่า 7,000 ถ้าไม่ได้ราคานี้ก็ไม่ขาย ด้วยความที่อาจารย์รักม้ามาก แล้วก็สงสารเจ้าแซม จึงยอมเสียเงินให้พ่อค้าไป เพื่อช่วยชีวิตเจ้าแซมมา ตั้งแต่นั้นเจ้าแซมก็เลยได้มาอยู่ที่ชมรมฯ และตอนนี้ก็เปรียบเสมือนม้าคู่กายของอาจารย์ชูชาติไปซะแล้ว

ในยามสาย ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องอำลาอาจารย์แล้ว ต่างขอบคุณซึ่งกันและกัน กับมิตรไมตรีที่หยิบยื่นให้ ก่อนกลับทุกคนก็ซื้อเสื้อที่ระลึกกันไปคนละตัว 2 ตัว อย่างน้อยก็เพื่อช่วยค่าอาหารของเจ้าแซมและเพื่อน ๆ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 

รถเราเคลื่อนตัวออกจากประตูชมรมแล้ว ฉันยังจำภาพในยามเย็นย่ำของเมื่อวานได้ ภาพที่อาจารย์ควบเจ้าแซม วิ่งไล่ต้อนม้าอื่น ๆ กลับเข้าคอก ฉันบอกกับตัวเองว่า อาจารย์เหมือนอัศวินขี่ม้าขาวในหนังที่เคยดู เพียงแต่ว่า ชีวิตจริงไม่มีเจ้าหญิง มีแต่ม้าไทยที่กำลังจะสูญพันธุ์ รอเวลาให้อัศวินมาช่วยชีวิต ... อาจารย์คงทำได้เพียงแค่นี้ สำหรับอาจารย์นั้น ทุกอย่างที่ทำเพราะความรัก และเมตตา ไม่ต้องมีใครมาร้องขอให้ทำ และไม่ได้ทำเพื่อหวังความร่ำรวยอะไร และ เพราะทำด้วยใจ ...แค่เพียงพอ และพอมีสำหรับคนและม้า ก็ดูจะพอสำหรับอาจารย์แล้ว ก็คงขอเป็นแค่อัศวินม้าแกลบของเด็ก ๆ และม้า ๆ ต่อไป ตราบเท่าที่สองมือและเรี่ยวแรงยังมี




Your are in my mind

Your Welcome
Powered By Blogger